ปราบกบฏฮ่อ ของ พระเจริญราชเดช (กวด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม)

พ.ศ. ๒๔๑๗-๑๙ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจริญราชเดช (กวด) เป็นแม่ทัพยกกำลังพล ๓ หัวเมืองไปสมทบทัพหลวงเพื่อปราบทัพจีนฮ่อที่นครเวียงจันทน์และนครหลวงพระบาง ได้แสดงความกล้าหาญจนชนะฮ่อหลายจุดจึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานะขึ้นเสมอเจ้าผู้ครองนคร มีการใช้ราชาศัพท์อย่างเจ้าประเทศราชในหอโฮงและคุ้มเจ้าเมืองโดยสังเกตจากสร้อยราชทินนามว่า ประเทศราชธำรงค์รักษ์[17]หมายถึงผู้รักษาเมืองประเทศราชคือเมืองมหาสารคาม ต่อมาปีที่ ๓ ของสงครามได้นำพลเข้าต่อสู้ปราบปรามฮ่ออย่างเข้มแข็ง ขณะตะลุมบอนนั้นพระเจริญราชเดช (กวด) ต้องปืนและหอกข้าศึกตกจากหลังม้าอาการสาหัสแต่คงฝืนสั่งนายทหารให้แบกร่างตนเข้าบัญชาการทัพจนมีชัย หลังสงครามสิ้นสุดพระเจริญราชเดช (กวด) ได้ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๔๐[18] (๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๑) ด้วยเหตุบอบช้ำจากการศึกสิริชนมายุ ๔๓ ปี ชาวมหาสารคามรู้จักในนามท้าวมหาชัยและมอบสมญานามให้ว่าอาชญาพ่อหลวงมหาชัย ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการพร้อมด้วยคณะสงฆ์ได้เปลี่ยนชื่อวัดเหนือมาเป็นวัดมหาชัยเพื่อระลึกถึงนามท้าวมหาชัย (กวด) ผู้สร้างวัด[19]